วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555




สาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมส์

                      1. การเลี้ยงดูในครอบครัวมักจะพบเด็กติดเกมส์ได้บ่อย ในครอบครัวที่เลี้ยงเด็กโดยไม่เคยมีวินัยในตนเอง ขาดกฎระเบียบ กติกาในบ้าน ตามใจเด็ก หรือมักจะใจอ่อนไม่ค่อยทำโทษ เมื่อเด็กกระทำผิด บางครอบครัวมีลักษณะที่สมาชิกต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมร่วมที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน หรือไม่มีกิจกรรมที่สมาชิกทุกคนต้องทำร่วมกัน ทิ้งให้เด็กเกิดความเหงา ความเบื่อหน่าย เด็กจึงต้องหากิจกรรมอื่น เพื่อทำให้ตนเองสนุก ซึ่งก็หนีไม่พ้นการเล่นเกมส์ พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาดูแล และควบคุมเด็ก หรือมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเวลาในการเล่นเกมส์ของเด็ก ในช่วงแรกพ่อแม่อาจจะรู้สึกพอใจที่เด็กเล่นเกมส์เงียบๆ คนเดียวโดยไม่มารบกวน ทำให้ตนมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น (พูดง่ายๆ คือ การใช้เกมส์เสมือนเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กแทนตน) 
                     2. สังคมที่เปลี่ยนแปลง สังคมยุคไฮเทคที่มีเครื่องมือที่มีพลังในการเร้าความตื่นตัวให้เกิดในตัวเด็กอย่างมหาศาล สังคมวัตถุนิยม สังคมที่ขาดแคลนกิจกรรม หรือสถานที่ ที่เด็กใช้ประโยชน์ หรือเรียนรู้โดยได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เด็กหันไปเล่นเกมส์เป็นทางออก
                       3. ปัจจัยในตัวเด็กเอง เด็กบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการติดเกมส์มากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เด็กที่ขาดทักษะทางสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เด็กที่มีปัญหาทางการเรียน เด็กที่มีความรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองต่ำ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กติดเกมส์ อยู่ที่กลุ่มเพื่อน เด็กหลายคนจะกลัวการเข้ากลุ่มกับเพื่อนไม่ได้ หากไม่ทันกระแส หากไม่เล่นเกมส์ที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน เกมส์ให้ความเพลิดเพลิน มีความท้าทาย และจะเพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กต้องเอาชนะ และอยากเล่นอย่างต่อเนื่องเพราะการเล่นจนชนะ จะกลายเป็นฮีโร่ และเด็กจะกลายเป็นคนก้าวร้าว และไม่มีเหตุผล ภาวะทางอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ผลกระทบทางจิตใจจะทำให้เกิดความรุนแรงทางอารมณ์ คือ ต่อต้าน และหดหู่ ซึมเศร้า หากไม่ได้เล่น จะมีพฤติกรรม เช่น หนีเรียน เก็บตัว นานๆ ไป เด็กจะกลายเป็นคนแปลกแยก ไม่มีสังคม ขาดความสัมพันธ์กับสังคม และครอบครัว
                      4. เพื่ออนาคตของลูกหลาน เพื่ออนาคตของชาติ แนวทางของพ่อแม่ ควรปกป้องตั้งแต่เด็กยังไม่ติดเกมส์ โดยการฝึกให้รู้กติกา ขอบเขต และทักษะในการควบคุมตนเอง จัดการสิ่งแวดล้อมให้สงบไม่มีสิ่งกระตุ้นเรื่องเกมส์ จัดการเข้าค่ายครอบครัว นำภาพอดีต และสิ่งดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง บอกเล่าความในใจ ความรู้สึกที่ดี เพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ของเด็กๆ ให้พวกเขาเติบโตขึ้นมามีการพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ที่สมบูรณ์ได้อย่างดี
                       5. ในปัจจุบันยังมีพ่อแม่บางส่วนที่สับสน และเข้าใจผิดว่าการที่ลูกไม่ได้เล่นเกมส์นั้น เป็นการปิดกั้นความคิดและจินตนาการของเด็ก จริงๆ แล้วเกมส์มีรูปแบบตายตัวทำให้เด็กไม่ต้องใช้ความคิด และการแก้ไขปัญหามีแต่การใช้อารมณ์ และการเอาชนะ พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าตนเองมีเหตุผลเพียงพอที่จะโน้มน้าวเด็กให้รู้จักดำเนินชีวิต และเปิดโอกาสให้เขาพบกับโลกที่น่าอยู่มากกว่าการเล่นเกมส์ หรือจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์มาทดแทน สร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ อย่างพ่อแม่คู่คิด เพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น